คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการ TIC FORUM ครั้งที่ 1/2559 “พร้อมหรือไม่ที่จะเป็นล่ามพูดพร้อม”

โครงการ TIC FORUM ครั้งที่ 1/2559 “พร้อมหรือไม่ที่จะเป็นล่ามพูดพร้อม” ศูนย์การแปลและการล่าม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การเสวนาวิชาการ TIC Forum ครั้งที่ 1/2559 หัวข้อ “พร้อมหรือไม่ที่จะเป็นล่ามพูดพร้อม” บรรยายโดยพลเรือตรีหญิงอารยา อัมระปาล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ จัดขึ้นในวันพุธที่ 16 มีนาคม 2559 เวลา 9.00 – 12.00 น. ณ ห้องสมุดคณะศิลปศาสตร์ ชั้น 2 อาคารสิริวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จากการเสวนาสามารถสรุปความรู้ด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นล่ามและลักษณะงานล่าม โดยแบ่งเป็นประเด็นได้ดังนี้

 

คุณลักษณะของล่ามพูดพร้อม

ล่ามพูดพร้อมควรมีคุณลักษณะ คือ เป็นผู้มีความสามารถทางภาษาทั้ง 2 ภาษาเป็นอย่างดี การจะเป็นล่ามที่ดีได้นั้นล่ามควรเป็นนักแปลมาก่อนเนื่องจากจะได้ฝึกการถ่ายทอดจากภาษาหนึ่งเป็นภาษาหนึ่งมาอย่างมากแล้ว ล่ามควรมีความสามารถในการฟังได้ดี ทำความเข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว มีความจำดี และถ่ายทอดออกไปเป็นอีกภาษาหนึ่งโดยสามารถเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วน สามารถใช้คำศัพท์เฉพาะทางได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการเตรียมตัวก่อนการทำงานล่ามจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ การใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งของล่ามที่ดี เพราะน้ำเสียงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เสริมการสื่อความหมายได้

 

การเตรียมตัว

หากล่ามได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดเพื่อไปศึกษาล่วงหน้า จะทำให้ล่ามปฏิบัติงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะหากการพูดเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ที่มีความซับซ้อนของภาษามาก การเตรียมตัวก่อนทำงานล่ามนั้นอาจเตรียมในระยะเวลาอันสั้นหรือยาว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น หากล่ามต้องทำหน้าที่ล่ามให้กับงานประชุมที่มีบุคคลสำคัญเป็นผู้พูด ล่ามอาจลองฟังสำเนียงของบุคคลนั้นได้ทางสื่ออินเตอร์เน็ตเพื่อเป็นการเตรียมตนเองให้คุ้นเคยกับสำเนียงนั้น หรือก่อนเริ่มงาน ล่ามสามารถเข้าไปแนะนำตัวกับบุคคลที่ต้องเป็นล่ามให้เพื่อฟังสำเนียงได้ ตามปกติแล้ว หากล่ามทราบหัวข้อการพูดมาก่อน แม้ล่ามจะไม่ได้รับข้อมูลโดยละเอียดก็ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อนั้นมาอ่านเพื่อให้พอมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ นอกจากนี้ การเตรียมเตรียมข้อมูลสำคัญเช่น การเทียบปีคริสต์ศักราชกับพุทธศักราช หรือการเทียบหน่วยวัด ช่าง ตวง ต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะล่ามอาจไม่สามารถคำนวณได้ระหว่างที่ทำหน้าที่อยู่ ล่ามยังมักต้องเตรียมอุปกรณ์อื่นๆ ไว้เสมอ เช่น สมุด ปากกา เทปกาว อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยหาข้อมูล ที่ใช้ระหว่างการทำงาน และต้องเตรียมแม้กระทั่ง ลูกอม น้ำอุ่น เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอหรือคอแห้งอีกด้วย

 

ปัญหาในการปฏิบัติงาน

บางครั้งผู้พูดอาจไม่ใช่เจ้าของภาษา ทำให้มีการใช้ภาษาที่ผิดไวยากรณ์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นอุปสรรคในการล่ามได้ นอกจากนี้ ผู้พูดที่เป็นคนพูดเร็วโดยธรรมชาติ อาจทำให้ล่ามถ่ายทอดเนื้อหาได้ไม่ทัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้พูดควรรู้ตัวเสมอว่ามีล่ามทำหน้าที่อยู่ และพูดไม่เร็วจะเกินไป

 

การทำงานร่วมกัน

การทำงานล่ามมักมีการผลัดเปลี่ยนผู้ทำหน้าที่ เนื่องจากเป็นงานที่ใช้สมองมากและผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถทำได้นาน ดังนั้น ล่ามที่ทำงานร่วมกันควรตกลงกันให้ชัดเจนเรื่องการแบ่งเวลาทำงาน และการรักษาเวลา และระหว่างการปฏิบัติงานนั้น ล่ามที่ร่วมตู้กันควรรักษากิริยามารยาทและเป็นผู้ช่วยที่ดี เช่น ช่วยหาข้อมูลการออกเสียงคำบางคำ ระหว่างที่ล่ามอีกคนปฏิบัติงานอยู่

 

การฝึกฝน

ผู้ที่มีความสามารถทางภาษาอยู่แล้วสามารถลองฝึกฝนการเป็นล่ามโดยฝึกประสานทักษะหลายอย่าง เช่น ดูข่าว แล้วพูดคำแปลออกมาระหว่างที่ถูบ้านไปด้วย ฟังข่าวแล้วพูดคำแปล โดยที่เขียนชื่อและที่อยู่ของตน หรือเขียนตัวเลข 1 – 100 ไปในเวลาเดียวกัน การฝึกฝนนี้ควรทำเป็นกิจวัตร นอกจากนี้ ผู้ฝึกฝนควรอ่านข่าวสารและหนังสือให้มาก เพื่อเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอ

  

สรุปภาพรวมของการจัดงาน

ในการเสวนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมที่ปฏิบัติหน้าที่ที่หลากหลายในหน่วยงานต่างๆ อาทิ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรม, ข้าราชการ, ล่าม, เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมหิดล, เจ้าหน้าที่รัฐสภา, นักแปล, นักวิเทศสัมพันธ์, อาจารย์ และนักศึกษา รวมทั้งหมด 71 คน ผลจากแบบประเมินความพึงพอใจต่อโครงการอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ระดับคะแนนเฉลี่ยคือ 4.67 จากคะแนนเต็ม 5

 

สิรารุจ กิตตวรเชฏฐ์ เขียน