คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปาฐกถาปฐมฤกษ์ “ความก้าวหน้าในนวัตกรรมยารักษาโรค สุขภาพและความงาม”

สรุปประเด็นปาฐกถาปฐมฤกษ์

“ความก้าวหน้าในนวัตกรรมยารักษาโรค สุขภาพและความงาม”

 แสดงปาฐกถาโดย
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
(ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
วันอังคารที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕

ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งประเทศที่มีความแข็งแกร่งทั้งการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและผลผลิตทางวัฒนธรรม สำหรับความแข็งแกร่งทางด้านวิทยาศาสตร์ ประเด็นเรื่องสุขภาพเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่แสดงถึงความก้าวหน้าทั้งในเรื่องยารักษาโรค บริการทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีด้านความงาม ขณะที่ความแข็งแกร่งทางด้านวัฒนธรรมและศิลปะของประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นที่รู้จักในวงกว้างและจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น การต่อยอดความแข็งแกร่งทั้งสองด้านให้เกิดพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตในอนาคต ควรมีการพิจารณาถึง 3 จุดเชื่อมโยงสำคัญ คือ

  • อดีต – การมองข้อดีของอดีตและภูมิใจในวัฒนธรรมและคลังความรู้ทางประวัติศาสตร์
  • ปัจจุบัน – การพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นข้อดีหรือจุดแข็งอยู่แล้วและพิจารณาว่าควรทำอย่างไรให้ดียิ่งขึ้น
  • อนาคต – เมื่อมองเห็นความแข็งแกร่งของเงื่อนไขจากอดีตและปัจจุบันที่ดีประกอบกัน จะเล็งเห็นโอกาสและสามารถต่อยอดความคิดและการพัฒนาต่อไปสำหรับอนาคต

                  ด้วยเหตุนี้ ต้นทุนความแข็งแกร่งทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะกับวัฒนธรรมที่ดีอยู่แล้ว (เรื่องยารักษาโรค สุขภาพ และความงาม) สามารถพัฒนาต่อไปให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมได้เนื่องจากยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งการจะพัฒนาได้สำเร็จนั้นจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความรู้จากทั้ง “ศาสตร์และศิลป์” หรือ “บูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ-วัฒนธรรม” ด้วยการนำเอาความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม คุณลักษณะของคนไทย ความสวยงามและความความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มาผสมผสานเข้ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

                   หากพิจารณาประเด็นเรื่องสุขภาพ ต้องยอมรับว่าระบบบริการสุขภาพ (Healthcare services) ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยสามารถให้บริการทางสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนสามารถได้รับบริการอย่างทั่วถึง และขณะเดียวกันยังสามารถให้บริการทางการแพทย์ในระดับที่ซับซ้อนที่มาพร้อมกับคุณภาพได้ด้วย เมื่อมองในมิติการเชื่อมโยงสู่สังคม วัฒนธรรมและศิลปะปัจจุบันมีการริเริ่มอย่างหลากหลายด้วยการเชื่อมโยงเรื่องสุขภาพสู่แวดวงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม กระทั่งเกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical tourism (โดยผู้ป่วยชาวต่างชาติสามารถมารับบริการทางแพทย์และวางแผนเพื่อเดินทางท่องเที่ยวได้ในเวลาเดียวกัน)

                   ดังนี้ ทำให้ชวนคิดต่อไปว่า หากกำลังกล่าวถึงจุดแข็งทางด้านความงามในประเทศไทย ซึ่งมีรากฐานทางอุตสาหกรรมที่ดีและกำลังเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด มีการพัฒนาเครื่องสำอางหลากหลายประเภท มีการคิดค้นเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับความงามอย่างกว้างขวาง รวมถึงตลาดเครื่องสำอางของประเทศไทยมักมียอดขายที่ดีและเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอ ไม่ว่าประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้สภาวะทางเศรษฐกิจแบบใดก็ตาม จึงกล่าวได้ว่าในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงสุขภาพและความงาม เช่น อุตสาหกรรมความงาม เครื่องสำอาง เทคโนโลยีความงาม ต่างเป็นที่ยอมรับและมีโอกาสเจริญเติบโตไปในทางที่ดีได้ จึงนำไปสู่ประเด็นที่น่าสนใจว่า “เมื่อดีอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ทำอย่างไรที่จะพัฒนาความงาม สุขภาพ ไปจนกระทั่งยารักษาโรคที่พัฒนามาจากรากทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ดีอยู่แล้ว ให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดแบบเดิม โดยเงื่อนไขประการสำคัญที่ควรพิจารณา คือ การเพิ่ม “ความเชื่อ” ที่มีต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ

  1. การทำให้เกิด “การยอมรับและเชื่อถือ” ควรนำหลักฐานข้อมูลและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดการยอมรับและสร้างความน่าเชื่อถือ
  2. การพิสูจน์ข้อเท็จจริง -สามารถทำได้โดย “ใช้ข้อมูลททางวิทยาศาสตร์” ที่ผ่านการกลั่นกรอง ยืนยัน และสร้างความมั่นใจให้แก่ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่ผู้บริโภคใช้อยู่แล้ว เช่น การพิสูจน์ฤทธิ์ของสมุนไพร หรือการใช้ยารักษาโรคที่เป็นภูมิปัญญาไทย
  3. การทำให้แน่ใจในเรื่อง “มาตรฐานและความปลอดภัย”
  4. การทำให้ผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับการใช้และการดำรงชีวิตประจำวันที่เป็นวิถีในปัจจุบันและในอนาคต

                  สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นตัวอย่างของการผสานระหว่างศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน โดยนำสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วมกับวัฒนธรรมและศิลปะ ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้น

                  ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมหรือมีองค์ประกอบของ soft power ที่ดีมาก แต่จะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มมูลค่าและนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่ ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่จะกลายเป็นจุดผสาน เชื่อมโยง และสร้างคานงัดที่มีแรงผลัก คือ “การบูรณาการข้ามศาสตร์” และ “การบูรณาการข้ามองค์กร” ซึ่งแนวทางดังกล่าว ต่างสอดคล้องกับกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 ที่มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นการศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว เป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณค่าและมีมูลค่าทางการตลาดที่สูงกว่าเดิม การคำนึงถึงประเด็นเรื่องผู้สูงอายุที่ควรมีการส่งเสริมศักยภาพและโอกาสอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ และความสามารถสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง ตลอดจนมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้า ล้ำยุคสู่อนาคต