คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อบูรณาการท้องถิ่นศึกษากับการเรียนการสอน สำหรับครูระดับชั้นมัธยมศึกษาในจังหวัดนครปฐม

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อบูรณาการท้องถิ่นศึกษากับการเรียนการสอน
สำหรับครูระดับชั้นมัธยมศึกษาในจังหวัดนครปฐม

โดย ศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา

            การให้ความสำคัญกับชุมชนหรือท้องถิ่นปรากฏในแนวคิดในการพัฒนาประเทศมาหลายยุคหลายสมัย ดังจะเห็นได้จากข้อกำหนดเชิงนโยบายที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งหลักสูตรการศึกษาของชาติก็ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาโดยเน้นความสอดคล้องกับท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง เพราะการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพนั้น ควรเริ่มจากให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งใกล้ตัวเพื่อเรียนรู้สภาพชีวิตจริง และเพื่อปลูกฝังให้เห็นความสำคัญและคุณค่าของสิ่งรอบตัว อันจะนำไปสู่การสร้างสำนึกของความรัก ความภูมิใจ และความหวงแหนมรดกของชุมชนและประเทศชาติต่อไป

            ศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการเก็บรวบรวมองค์ความรู้และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไทยศึกษาและท้องถิ่นศึกษาในพื้นที่ภาคกลางและจังหวัดนครปฐม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการให้การศึกษาแก่เยาวชนเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการตระหนักถึงความสำคัญของท้องถิ่นอันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อบูรณาการท้องถิ่นศึกษากับการเรียนการสอนสำหรับครูระดับชั้นมัธยมศึกษาในจังหวัดนครปฐมขึ้นเพื่อเป็นแนวทางแก่ครูในสถานศึกษาจังหวัดนครปฐมในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นศึกษา สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนต่อไป โดยมีโรงเรียนเป้าหมายเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดนครปฐมเป็นพื้นที่นำร่องตอบรับส่งบุคลากรเข้าร่วมจำนวน 18 โรงเรียน และผ่านการอบรม จำนวน 11 โรงเรียน บุคลากรทางการศึกษาผ่านการอบรมฯ จำนวนทั้งสิ้น 22 คน มีการออกแบบการจัดการเรียนการสอนของชั้นเรียนที่บูรณาการท้องถิ่นศึกษาที่นำไปใช้ได้จริงที่เน้นการบูรณาการท้องถิ่นศึกษากับการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมวิทยาศาสนาและวัฒนธรรม

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเชื่อมโยงท้องถิ่นศึกษากับการเรียนการสอนของครูระดับชั้นมัธยมศึกษาในจังหวัดนครปฐม

2. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียน และเสนอแนวทางการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นที่สามารถนำไปใช้จัดการเรียนการสอนได้จริง

3. เพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างคณะศิลปศาสตร์ โรงเรียนเป้าหมาย และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านท้องถิ่นศึกษา และการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

รายละเอียดการอบรมฯ

อบรมออนไลน์รายละเอียดดังนี้

ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ท้องถิ่นศึกษา: ความสำคัญ และแนวทางการบูรณาการสอนท้องถิ่นศึกษา” วิทยากรโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์  เกษมผลกูล <<คลิปวีดิโอ>>

ครั้งที่ 2 หัวข้อ “วรรณกรรม ตำนาน นิทานพื้นบ้านของจังหวัดนครปฐม เพื่อการสอนท้องถิ่นศึกษา” วิทยากรโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์  เกษมผลกูล <<คลิปวีดิโอ>>

ครั้งที่ 3 หัวข้อ “กรณีศึกษาการบูรณาการท้องถิ่นศึกษากับการเรียนการสอน” วิทยากรโดย อาจารย์วันวิสา  นิยมทรัพย์ <<คลิปวีดิโอ>>  <<เอกสาร>>

ครั้งที่ 4 หัวข้อ “การออกแบบและการวัดผลกิจกรรมการเรียนรู้ท้องถิ่นศึกษาผ่านวรรณกรรม ตำนาน นิทานพื้นบ้านของจังหวัดนครปฐม”  วิทยากรโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์  เกษมผลกูล <<คลิปวีดิโอ>>

ครั้งที่ 5 หัวข้อ “การออกแบบและการวัดผลกิจกรรมการเรียนรู้ท้องถิ่นศึกษาผ่านวรรณกรรม ตำนาน นิทานพื้นบ้านของจังหวัดนครปฐม (ต่อ)”  วิทยากรโดย อาจารย์ ดร.พงษ์กรณ์  วีรพิพรรธน์ <<คลิปวีดิโอ>>

ครั้งที่ 6 หัวข้อ “การนำเสนอกิจกรรมการเรียนรู้ท้องถิ่นศึกษา”  วิทยากรโดย อาจารย์ ดร.พงษ์กรณ์  วีรพิพรรธน์ และอาจารย์ ดร.เขมฤทัย  บุญวรรณ  <<คลิปวีดิโอ>>

เอกสารประกอบการอบรมฯ

          หนังสือท้องถิ่นนิทรรศน์: รวมหลักสูตรสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นคัดสรรจากโครงการ “หลักสูตรท้องถิ่น: การบูรณาการความรู้สู่ชุมชน”  << อ่านหนังสือ>>

ภาพกิจกรรม