คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการ TIC FORUM ครั้งที่ 3/2559 “การแปลเพื่อการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (ไทย-จีน)”

การเสวนาวิชาการ TIC Forum ครั้งที่ 3/2559 หัวข้อ “การแปลเพื่อการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (ไทย-จีน)”(历史文化旅游泰-汉翻译策略)บรรยายโดย ผศ.ก่อศักดิ์ ธรรมเจริญกิจ อาจารย์พิเศษ สาขาวิชาภาษาจีน ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบรรณาธิการบริหาร นิตยสารจีนไทยสองภาษารายเดือน จัดขึ้นในวันพุธที่ 7 กันยายน 2559 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ ห้องสมุดคณะศิลปศาสตร์ ชั้น 2 อาคารสิริวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จากการเสวนาสามารถสรุปความรู้ได้ดังนี้

ทฤษฎีการแปล

ทฤษฎีการแปลที่ได้รับความนิยมและยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน คือ ทฤษฎี 等效论 (ได้ผลเท่ากัน) ของเหยียนฟู่(严复)นักแปลสมัยราชวงศ์ชิง โดยมีหลักการแปล คือ 信(ซิ่น)、通(ทง)、达(ต๋า) หมายถึง การแปลความหมายที่ถูกต้อง เนื้อหาในภาษาปลายทางและภาษาต้นทางต้องตรงกัน ภาษาแปลต้องถูกต้องสอดคล้องตามหลักภาษาปลายทาง สละสลวยอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ เช่น “อย่าทำ” แปลว่า 别做 จะไม่แปลว่า 不要做 (ไม่ต้องทำ) นอกจากหลักการแปลตามทฤษฎีข้างต้นแล้ว สิ่งที่ผู้แปลควรทำก่อนลงมือแปลทุกครั้ง คือ การอ่านต้นฉบับให้เข้าใจเสียก่อน และผู้แปลควรมีความรู้ความเข้าใจทางอารมณ์ของภาษาให้มาก จึงจะสามารถแปลงานได้สอดคล้องตรงตามต้นฉบับ

 

หลักการแปลด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

การแปลด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเฉพาะไทย-จีน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัด วัง ความเชื่อ ศาสนา โดยชื่อพระราชวัง พระที่นั่งและสิ่งปลูกสร้างในวัง รวมทั้งชื่อวัดควรแปลตามความหมาย แต่หากคำที่แปลไม่สามารถแปลความหมายได้ เพราะเป็นคำที่ไม่มีในภาษาปลายทาง คือ เป็นสิ่งที่ไม่มีในวัฒนธรรมจีน ให้แปลแบบทับศัพท์ โดยการแปลทับศัพท์ควรเลือกใช้คำที่มีความหมายดี สละสลวย ส่วนชื่อเฉพาะที่เป็นคำศัพท์หลายพยางค์ เวลาแปลจะแปลแค่คำหลักของชื่อนั้นๆ เช่น พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ คำหลัก คือ คำว่า“อมรินทร” ซึ่งภาษาจีนใช้คำว่า “因陀罗”(อินถัวหลัว) ดังนั้น พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ จึงแปลเป็นภาษาจีนว่า“因陀罗殿”(อินถัวหลัวเตี้ยน) เป็นต้น

 

คำว่า “พระที่นั่ง” ในภาษาไทยสามารถแปลเป็นภาษาจีนได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับลักษณะของพระที่นั่งนั้นๆ เช่น พระที่นั่งที่เสด็จจออกว่าราชการหรือประกอบพระราชพิธี แปลเป็นภาษาจีนว่า“殿”(เตี้ยน) พระที่นั่งที่เป็นเรือนประทับ แปลเป็นภาษาจีนว่า“宫”(กง) พระที่นั่งที่มีลักษณะเป็นเรือนเปิดโล่ง ไม่มีฝากั้น คล้ายศาลา แปลเป็นภาษาจีนว่า“亭”(ถิง) และพระที่นั่งที่หมายถึงแท่นพระเก้าอี้ แปลเป็นภาษาจีนว่า“御座”(ยวี่จั้ว) เป็นต้น

 

สำหรับคำนามที่เป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ใช้ ต้องมีคำว่า“御”(ยวี่) เช่น รถพระที่นั่ง ใช้คำว่า 御车(ยวี่เชอ) หรือ 御辇(ยวี่เหนี่ยน) เรือพระที่นั่ง ใช้คำว่า 御舟(ยวี่โจว) หรือ 御船(ยวี่ฉวน) และวัดที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน ต้องมีคำว่า “御赐”(ยวี่ชื่อ) เช่น วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร แปลเป็นภาษาจีนว่า“御赐金山寺”(ยวี่ชื่อจินซานซื่อ) สำหรับการแปลศัพท์ทางพระพุทธศาสนา ผู้แปลควรจะต้องมีความรู้ด้านภาษาบาลีและสันสกฤต จึงจะสามารถแปลได้ดีและถูกต้อง

 

ผู้เข้าร่วมท่านใดที่ต้องการไฟล์เอกสารประกอบการบรรยายครั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดได้ จากลิ้งค์ด้านล่าง ค่ะ

  1. เอกสารประกอบการบรรยาย
  2. แบบทดสอบ