คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการเสวนาด้านการแปลและการล่าม TIC Forum 1/2563 “เจาะลึกซับไตเติ้ล เพื่อคอบันเทิงนิวนอร์มัล”

ศูนย์การแปลและการล่าม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การเสวนาด้านการแปลและการล่าม TIC Forum ครั้งที่ 1/2563 หัวข้อ “เจาะลึกซับไตเติ้ล เพื่อคอบันเทิงนิวนอร์มัล” บรรยายโดยอาจารย์ ดร.พยุงศักดิ์ แก่นจันทร์ และ อาจารย์ อรภาริน อ่อนกอ จัดขึ้นในวันพุธที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.00 – 15.00 น. ในรูปแบบออนไลน์

จากการเสวนาสามารถสรุปความรู้ได้ดังนี้

การแปลบทภาพยนตร์ต้องคำนึงถึงเรื่อง Localization of audio-medial texts หมายถึงการแปลให้เข้ากับภาษาและวัฒนธรรมปลายทาง เบื่องต้นควรทำความเข้าใจว่าบทภาพยนตร์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ บทบรรยายใต้ภาพและบทพากย์ มักจะเป็นผู้แปลคนละคน และอาจแตกต่างกันได้บ้างเนื่องจากบทภาพยนตร์ทั้งสองประเภทมีข้อจำกัดต่างกัน ข้อสำคัญคือการแปลต้องถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ ไม่ควรยึดติดภาษา สามารถปรับเปลี่ยนได้ ผู้แปลต้องเข้าใจเนื้อหา ความสัมพันธ์ของตัวละคร และวัฒนธรรมเพื่อให้แปลได้อย่างเหมาะสมกับบริบท เช่นการเลือกใช้คำสรรพนามหรือคำลงท้ายที่เหมาะสมกับตัวละคร การแปลสำนวน คำสบถ และคำหยาบต้องพิจารณาตามความตั้งใจของตัวละคร เนื้อหา ให้ตรงกับต้นฉบับ

To be a subtitler, linguist, translator: คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการทำอาชีพเหล่านี้คือต้องมีวินัยสูง ตรงต่อเวลา มีความรู้ภาษาดีมาก รู้จักวิเคราะห์บริบท เลือกคำ ช่างสังเกต หมั่นเรียนรู้ และใส่ใจรายละเอียด นอกจากนี้ผู้บรรยายได้ให้ข้อแนะนำที่สำคัญเกี่ยวกับจำนวนตัวอักษรต่อบรรทัดและจำนวนบรรทัด การแปลชื่อตัวละครหรือสถานที่เฉพาะและการทับศัพท์ การแปลตัวเลข การแปลเครื่องหมายวรรคตอน อัตราความเร็วการอ่าน subtitle การแปลเพลง และการสะกดคำตามหลักของราชบัณฑิตยสภา หลังจากนั้นผู้บรรยายยกตัวอย่างที่หลากหลายจากประสบการณ์การแปลจริง และเปิดโอกาสให้ผู้ฟังแสดงความคิดเห็น

ส่วนคุณสมบัติของ QCer คือต้องมีความรู้ภาษาดีมาก มีหน้าที่ปรับแก้บทแปลที่ไม่เป็นธรรมชาติโดยเน้นประสบการณ์รับชมของผู้ชมเป็นสำคัญ รวมถึงดูความเหมาะสมทางด้านเทคนิคต่างๆ เช่น ความยาวของบทแปลและการขึ้นบรรทัดใหม่

ช่วงท้ายผู้บรรยายตอบคำถามจากผู้ฟังโดยแนะนำช่องทางหางานแปลทั้งการแปลหนังสือและการแปลบทภาพยนตร์ รวมทั้งเครื่องมือต่างๆที่น่าสนใจที่ช่วยในการแปล

ในการจัดโครงการฯมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา ผู้ทำงานด้านการล่าม และผู้ที่สนใจงานด้านนี้ได้รับความรู้และสามารถนำไปใช้ในการศึกษาหรือการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และการศึกษาหรือการทำงานในด้านการแปลและการล่ามมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป