คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการเสวนาด้านการแปลและการล่าม TIC forum ครั้งที่ 1/2562 หัวข้อ “ธุรกิจคอนเทนต์กับบทบาทนักแปล-นักพากย์”

โครงการเสวนาด้านการแปลและการล่าม TIC Forum ครั้งที่ 1/2562 หัวข้อ “ธุรกิจคอนเทนต์กับบทบาทนักแปล-นักพากย์” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ณ Mini Theater มหาวิทยาลัยมหิดล

เริ่มการเสวนาด้วยการบรรยายโดยคุณสุธานุช สุธีรวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานคอนเทนต์ บริษัท เจเคเอ็น โกบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) โดยเนื้อหาของการบรรยายในช่วงนี้เป็นเรื่องธุรกิจของบริษัท JKN สรุปได้ดังนี้ บริษัท JKN มีบริษัทลูกอยู่ 4 บริษัท ได้แก่ JKN Channel คือช่องโทรทัศน์ Dramax ซึ่งเน้นฉายละครอินเดียและเกาหลี ต่อมาคือ JKN News หรือข่าว JKN IMC ให้บริการด้านสื่อโฆษณา และสุดท้ายคือ Knowledge ซึ่งให้บริการความรู้และการอบรม

ในครึ่งหลังเป็นการสาธิตการพากย์ภายนตร์และการ์ตูนชาติต่างๆ และการบรรยาย โดยคุณสังวาลย์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นักพากย์อิสระและนักพากย์หญิงรางวัลโทรทัศน์ทองคำ

หลังจากการสาธิตการพากย์แล้ว คุณสังวาล ได้อธิบายถึงวิธีการทำงานของนักพากย์ โดยปกตินักพากย์จะต้องดูภาพบนจอและฟังเสียงของต้นฉบับจากหูฟังข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งเป็นเสียงพากย์ภาษาไทยที่นักพากย์ได้พูดออกไป นอกจากนี้ นักพากย์อาจมีการปรับการใช้คำเล็กน้อยในการพากย์จริง เช่นการเติมสร้อยคำ เพื่อให้มีความเป็นธรรมชาติ หรือเพื่อให้ไพเราะขึ้น

ความสำคัญของการแปลที่มีต่อการพากย์คือ นักแปลต้องแปลภาษาตันฉบับให้เป็นภาษาไทย โดยที่ยังคงความหมายได้ถูกต้องและสอดคล้องกับการขยับปากของตัวละคร ความยาวของบทแปลต้องพอดีกับการที่ตัวละครเริ่มอ้าปากพูดและหุบปากในคำสุดท้าย โดยทั่วไปนักแปลเองนั้นต้องแปลและลองพากย์ด้วย เมื่อทำเช่นนี้ คำแปลจะมีความยาวที่พอดี และนักพากย์จะได้บทที่ดีจากนักแปล

ประเด็นถัดมาคือการสะกดคำให้ถูกต้อง นักพากย์มักพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำและออกเสียงคำควบกล้ำถูกต้อง การที่นักแปลสะกดคำที่ถูกต้องถือเป็นการช่วยส่งเสริมการทำงานของนักพากย์ เป็นการอำนวยความสะดวกในการอ่านบทให้กับนักพากย์ นอกจากนี้ การสะกดคำที่เป็นการถอดเสียงมาจากภาษาต้นฉบับนั้นยังมีความจำเป็นมาก เช่นชื่ออาหาร คน และสถานที่ เนื่องจากเป็นคำที่ไม่มีในภาษาไทย และนักพากย์จะอ่านตามทสิ่งที่นักแปลพิมพ์มาให้ ทั้งนี้ในการถอดเสียงชื่อเฉพาะเหล่านี้ นักแปลควรค้นคว้าให้แน่ใจว่าออกเสียงอย่างไรและฟังเสียงในภาพยนตร์ประกอบด้วย การที่นักแปลถ่ายเสียงผิด อาจทำให้นักพากย์ออกเสียงผิด หรือทำให้นักพากย์เกิดความไม่แน่ใจและต้องมาค้นคว้าเสียเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของนักพากย์และเป็นการเสียเวลา ในการถ่ายเสียงชื่อเฉพาะนั้นนักแปลต้องบังคับใช้เสียงวรรณยุกต์ด้วย เช่น อามานี่ เอมิลี่ เพื่อให้การพากย์คำเดียวกันนี้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ

การวางตำแหน่งของบทแปลเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน บทแปลต้องตรงกับคำพูดในต้นฉบับเสมอ จะสลับที่หรือปรับเปลี่ยนลำดับของการพูดไม่ได้ นักพากย์จะฟังเสียงและอ่านบทแปลออกไป หากสิ่งที่นักพากย์ได้ยินไม่ตรงกับบทแปล จะทำให้นักพากย์สับสนและอาจเกิดความผิดพลาดหรือเสียเวลาในการผลิตงานได้

สำหรับการจัดหน้ากระดาษนั้นทุกฝ่ายควรช่วยกันประหยัดกระดาษ เนื่องจากในการพากย์ละครนั้นต้องใช้กระดาษจำนวนมาก เช่น ละครหนึ่งเรื่องที่มีหนึ่งร้อยตอน มีนักพากย์แปดคน จึงต้องใช้กระดาษหลายร้อยแผ่นหรือนับพัน คุณสังวาลแนะนำว่าผู้แปลควรจัดหน้ากระดาษ โดยให้กั้นหน้าหลังบนและล่างอยู่ที่ 1 เซนติเมตร และควรใช้ตัวอักษรแบบ Cordia ขนาด 18 หรือ 20 เพราะจากประสบการณ์ของคุณสังวาลย์ พบว่าตัวอักษรและขนาดดังกล่าวอ่านได้ชัดเจนที่สุด

ผู้แปลควรระบุชื่อเรื่อง ตอนที่ ชื่อผู้แปลเพื่อให้สะดวกหากนักพากย์ต้องการติดต่อนักแปล ระบุความยาวของเรื่องเพื่อให้สะดวกต่อการคิดราคางาน หัวกระดาษต้องมีชื่อเรื่อง ตอนที่ และลำดับหน้า ให้ชัดเจนเสมอ หากเป็นซีรี่ ในหน้าแรกควรมีเรื่องย่อของตอนนั้นๆ ด้วย มีการระบุชื่อตัวละครและบทบาท (เช่น เป็นแม่นางเอก หรือเป็นผู้ร้าย) ตามลำดับที่ปรากฏ และระบุอายุโดยประมาณ และเพศของตัวละครเหล่านั้นด้วย เพื่อให้นักพากย์เลือกผู้ให้เสียงที่เหมาะสมกับบทบาท สำหรับบทของตัวประกอบที่ไม่ระบุชื่อ ให้ผู้แปลระบุว่า “หญิง1” “หญิง2” “หญิง3” “ชาย1” “ชาย2” “ชาย3” นักพากย์จะแบ่งบทบาท และจดจำเสียงที่ใช้สำหรับการพากย์ตัวละครแต่ละตัว

รายละเอียดในการให้เสียงทุกอย่างต้องมีให้ในบทพากย์ที่นักแปลทำมาให้ เช่น เสียงหัวเราะ ผู้แปลสามารถใช้การใส่วงเล็บ เช่น (หัวเราะ) และ (สะอื้น) เพื่อให้นักพากย์ให้เสียงหัวเราะหรือทำเสียงสะอึกสะอื้น และควรเว้นวรรคให้ห่างจากบทพูดประมาณ 3 เท่าของการเว้นวรรคเล็ก เพื่อให้นักพากย์เห็นชัดเจน นักแปลแต่ละท่านอาจใช้สัญลักษณ์ที่เป็นที่เข้าใจกัน เช่น การใส่ “…” เพื่อให้นักพากย์ทอดเสียง บางครั้งในภาพยนตร์มีการให้ผู้ชมได้ยินเสียงก่อนที่ภาพจะมา ให้นักแปลใช้ (ส) ไว้หน้าบทพากย์ หมายถึง “เสียง” นักพากย์จะทราบได้ว่าส่วนนี้เป็นการให้เสียงโดยที่ยังไม่เห็นหน้านักแสดง

ช่วงถามตอบ

ได้มีผู้ถามคำถามและได้รับคำตอบ ดังนี้

คำถามที่ 1 นักพากย์คนเดียวคงระดับเสียงที่ใช้กับตัวละครต่างกันได้อย่างไร

ตอบ มาจากการฝึกฝนจนทำให้นักพากย์รู้ “ร่องเสียง” ของตนเองว่าแบบใดใช้กับตัวละครเด็ก คนแก่ หรือคนวัยรุ่น

คำถามที่ 2 นักพากย์รู้ได้อย่างไรว่าต้องใส่อารมณ์แบบใดให้ตัวละคร

ตอบ นักพากย์จะรู้ได้ว่าอารมณ์ของตัวละครเป็นอย่างไรเวลาอ่านบทแปลที่ดี ประกอบกับการได้ฟังน้ำเเสียงของตัวละครในต้นฉบับ และการฝึกฝนจนชำนาญ

คำถามที่ 3 ในเรื่องนาคิน สังเกตได้ว่ามีคนคนเดียวในการพากย์ตัวละครหลายตัวในฉากเดียวกัน อยากทราบว่าเมื่อมีเสียงซ้อนกันหลายเสียง คนพากย์จะทำอย่างไร หรือมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร

ตอบ ในกรณีที่เสียงซ้อนกัน ต้องใช้การพากย์และอัดเสียงทีละบท จากนั้นจึงใช้เทคนิคเอาเสียงทั้งหมดมาซ้อนกัน

คำถามที่ 4 เคยพากย์ด้วยภาษาต่างประเทศหรือไม่ และถ้าเคย มีอุปสรรคอย่างไร

ตอบ คุณสังวาลเคยได้พากย์การ์ตูนไทยเป็นภาษาไทย ภาษาอีสาน และภาษาอังกฤษ มีอุปสรรคบ้างเช่นการออกเสียงภาษาอังกฤษ ในการพากย์จึงมีครูที่ช่วยฝึกการออกเสียงให้ นอกจากนี้ยังเคยได้พากย์เป็นภาษาลาว ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน

คำถามที่ 5 ในการพากย์ชื่อตัวละครอินเดีย เหตุใดบางครั้งจึงไม่ใช้ชื่อภาษาไทยที่มีอยู่แล้ว แต่บางชื่อกลับใช้ได้

ตอบ อยู่ที่ผู้ผลิตว่าต้องการให้บทพากย์ออกเสียงแบบที่คนไทยคุ้นเคยหรือไม่ งานบางงานผู้ผลิตเห็นว่าสมควรให้ชื่อตัวละครเป็นชื่อที่คนไทยคุ้นเคย เช่น ตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ แต่ในละครรักอาจไม่จำเป็นต้องใช้ อีกทั้งการออกเสียงชื่อตัวละครตามเสียงจริงแบบต้นฉบับยังเป็นการให้ผู้ชมได้เรียนรู้การออกเสียงภาษาฮินดีได้อีกด้วย

คำถามที่ 6 อาชีพนักพากย์จำเป็นต้องทำเป็นงานเต็มเวลาหรือไม่ สามารถทำเป็นงานนอกเวลาได้หรือไม่

ตอบ อยู่ที่เจ้าของบริษัทว่าเปิดโอกาสให้ทำเป็นงานนอกเวลาได้หรือไม่ หากทำได้มักเป็นการพากย์เดี่ยวเนื่องจากเวลาในการทำงานไม่ตรงกับนักพากย์คนอื่นๆ การทำงานพากย์ส่วนใหญ่เป็นการทำงานเป็นทีมและใช้เวลานานเพราะมีตารางเวลาในการส่งงานเพื่อออกอากาศ

คำถามที่ 7 ภาษาที่ใช้ในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน เช่น คนในกรุงโซล ประเทศเกาหลี มีวิธีการพูดที่ไพเราะ ส่วนคนที่อยู่ต่างจังหวัดจะมีลักษณะการพูดที่กระด้าง ในการพากย์สามารถทำให้ได้ลักษณะที่แตกต่างกันนี้หรือไม่

ตอบ นักพากย์จะศึกษาจากบทที่ได้มาว่าตัวละครแต่ละตัวมีลักษณะแบบใด เรียบร้อย พูดจาไพเราะ หรือหยาบกระด้าง แล้วจึงวางนักพากย์ที่ให้เสียงได้เหมาะสมกับตัวละครเหล่านั้น บางครั้งมีการวางตัวนักพากย์ที่พูดภาษาไทยท้องถิ่นในการให้เสียงตัวละครที่เป็นคนต่างจังหวัดด้วย เพื่อให้ได้อรรถรส

คำถามที่ 8 ในการแปลภาพยนตร์หรือสารคดีสักเรื่อง ผู้แปลจะดูหนังหลายรอบเพื่อให้เข้าใจเรื่องอย่างลึกซึ้งและใช้คำแปลที่เหมาะสมที่สุด สำหรับนักพากย์นั้นต้องทำแบบเดียวกันหรือไม่ และในการแปลบทพากย์บางครั้งคำแปลอาจไม่พอดีกับปากตัวละคร จึงขอให้แนะนำในเรื่องนี้

ตอบ นักพากย์จะไม่ได้ดูหนังก่อน หรือใช้เวลาเพื่อดื่มด่ำกับเนื้อเรื่อง เพียงแต่เป็นการดูหรืออ่านเรื่องย่อเพื่อให้พอเข้าใจว่าเป็นภาพยนตร์หรือสารคดีแนวใด หรือดูคร่าวๆ เพื่อให้ทราบว่าตัวละครต่างๆ ในภาพยนตร์มีหน้าตาอย่างไรก่อนที่จะลงมือพากย์เท่านั้น ดังนั้นบทพากย์ที่นักแปลทำมาให้โดยใส่รายละเอียดที่จำเป็น เช่น น้ำเสียงของตัวละคร การหัวเราะ ฯลฯ นั้นสำคัญมาก ส่วนเรื่องบทแปลที่อาจสั้นหรือยาวกว่าเสียง คุณสังวาลแนะนำว่าไม่ควรสั้นหรือยาวเกิน 1-2 พยางค์เท่านั้น

เรียบเรียงโดย สิรารุจ กิตติวรเชฏฐ์