หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาภาษาไทย
- หลักสูตรระดับปริญญาตรี
- ภาพรวมของหลักสูตร
- ข้อมูลเฉพาะของหลักสูตร
- เส้นทางความก้าวหน้าของผู้สำเร็จการศึกษา
- ปรัชญาการศึกษาในการบริหารหลักสูตร
- สมรรถนะที่เสริมสร้างให้นักศึกษาของหลักสูตร
- ผลลัพธ์การเรียนรู้ของบัณฑิต
- รายละเอียดของหลักสูตร (มคอ.2)
ชื่อหลักสูตร
(ภาษาไทย) หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย
(ภาษาอังกฤษ) Bachelor of Arts Program in Thai
ชื่อปริญญา
(ภาษาไทย) ศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาไทย)
(ภาษาอังกฤษ) Bachelor of Arts (Thai)
ประเภทของหลักสูตร
หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาการ
จำนวนหน่วยกิต
รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า ๑๒๓ หน่วยกิต
ระยะเวลาการศึกษา / วงรอบหลักสูตร
เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี (๔ ปี) ตามประกาศของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา
เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๕
สถานภาพของหลักสูตรและกำหนดการเปิดสอน
เป็นหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๖ จากหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๑)
เริ่มใช้ในภาคการศึกษาที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๖ เป็นต้นไป
การให้ปริญญา
ให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว
สถาบันผู้ประสาทปริญญา (ความร่วมมือกับสถาบันอื่น)
มหาวิทยาลัยมหิดล
เป้าหมาย
หลักสูตรมีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถทางภาษาไทย และมีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำหนด สามารถปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี ใช้ความรู้และทักษะด้านการสื่อสารและทักษะทางวัฒนธรรมเชื่อมระหว่าง “คน” และ “ศาสตร์” เพื่อแก้ปัญหาให้ตนเองและสังคมและพัฒนาประเทศได้
วัตถุประสงค์
มีหลักสูตรมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติดังนี้
๑) มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในวิชาแกนทางภาษาไทย ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด
๒) มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพในกลุ่มงานด้านการสื่อสาร การสื่อสารมวลชน และการสร้างสรรค์เนื้อหา รวมถึงอาชีพอื่น ๆ ที่ใช้ความรู้ขั้นสูงทางด้านภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
๓) มีกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์โดยบูรณาการความรู้ทางด้านภาษาไทยเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
๔) มีศักยภาพการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ทั้งในฐานะผู้นำและสมาชิกของกลุ่มเคารพความแตกต่างหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม
๕) มีทักษะการเรียนรู้และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารการวิจัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเหมาะสม
๖) มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณทางวิชาการ
ลักษณะเฉพาะของหลักสูตร
หลักสูตรฯ สาขาวิชาภาษาไทยมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น ดังนี้
๑) ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ทางภาษาไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งในทักษะภาษาไทย ภาษาไทยในงานสื่อสารมวลชน ภาษาศาสตร์ วรรณคดีและวรรณกรรมไทย คติชนวิทยา และการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ โดยมีรายวิชาบังคับที่ครบถ้วนตามกลุ่มทักษะเหล่านี้
๒) มีกลุ่มรายวิชาเลือกที่แบ่งเป็นกลุ่มทักษะเฉพาะที่ให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ตามความถนัดและสนใจซึ่งสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ หรือศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาได้ ได้แก่ ทักษะภาษาไทย ภาษาไทยในงานสื่อสารมวลชน ภาษาศาสตร์ วรรณคดีและวรรณกรรมไทย คติชนวิทยา และการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ
๓) กลุ่มวิชาเลือกและวิชาโทของหลักสูตรฯ มีการเชื่อมโยงความรู้ทางภาษาไทยกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ ในลักษณะสหวิทยาการ
๔) มีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มุ่งผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยคำนึงถึงคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ทักษะดิจิทัล ทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมถึงทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต
๕) มีผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญครบถ้วนในทักษะเฉพาะทั้งกลุ่มวิชาบังคับ วิชาเลือก และวิชาโท
ระบบการศึกษา
จัดการศึกษาแบบชั้นเรียนในระบบหน่วยกิตทวิภาค
อาชีพสามารถประกอบได้
บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสาขาภาษาไทยสามารถประกอบอาชีพได้ ดังต่อไปนี้
๑) กลุ่มนักวิชาการและการสอน อาทิ นักวิจัย นักวิเคราะห์ข้อมูลภาษาไทย นักวิชาการ บุคลากรทางด้านการศึกษา ผู้สอนภาษาไทยให้ชาวต่างประเทศ
๒) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในองค์กร อาทิ นักประชาสัมพันธ์ เลขานุการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
๓) กลุ่มสื่อสารมวลชนและนักสร้างสรรค์เนื้อหา อาทิ นักพูด ผู้ประกาศ นักข่าว นักเขียน นักพิสูจน์อักษร นักสร้างสรรค์
การศึกษาต่อ
ระดับบัณฑิตศึกษาสาขาต่าง ๆ อาทิ สาขาภาษาไทย วรรณคดีไทย ภาษาศาสตร์ คติชนวิทยา วรรณคดีเปรียบเทียบ นิเทศศาสตร์ ครุศาสตร์ เป็นต้น
ปรัชญาการศึกษา
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย จัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองจากความรู้เดิมและประสบการณ์การเรียนรู้ (Constructivism) โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน (Outcome-Based Education) เพื่อพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา และคำนึงถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learning-Centered approach) เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถสื่อสารและแสดงออกทางภาษาได้ดี มีความรู้ความสามารถและทักษะในการบูรณาการความรู้ทางด้านภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยกับศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีวิจารณญาณ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดจนมีคุณธรรมและจริยธรรม
กลยุทธ์/แนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอน
๑) หลักสูตรฯ มีแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์ของผู้เรียนตามผลลัพธ์การเรียนรู้
๒) ออกแบบการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาระดับพื้นฐานไปสู่ความรู้ระดับสูง เพื่อให้ผู้เรียนเชื่อมโยงและต่อยอดความรู้จากประสบการณ์เดิมไปสู่ประสบการณ์ใหม่
๓) จัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติในรูปแบบที่หลากหลายตามหลักการตามหลักการเรียนการสอนแบบ Active Learning เช่น การบรรยายเชิงปฏิสัมพันธ์ (Interactive lectures) การอภิปรายสัมมนา (Discussion / Seminar) การสาธิต (Demonstration) การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project based learning) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem based learning) และการเรียนรู้โดยใช้กรณีศึกษา (Cased – based learning) เป็นต้น
กลยุทธ์ / แนวปฏิบัติ ในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา
๑) การวัดและประเมินผลผู้เรียนต้องสอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้
๒) มีเกณฑ์การวัดและประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ โดยประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาตามสภาพจริง (Authentic assessment) การประเมินการเรียนรู้ (Formative evaluation) การประเมินผลรวม (Summative evaluation)
๓) เกณฑ์การให้คะแนน (Scoring Rubric)โดยใช้เครื่องมือการวัดและประเมินผลที่มีความเที่ยงตรง (Validity) และความคงที่ (Reliability)
ความสามารถทั่วไป (Generic Competences)
๑) การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ: ใช้ภาษาเพื่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน แสวงหาความรู้ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้และความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันและการปฏิบัติงานได้
๒) การทำงานร่วมกับผู้อื่น: แสดงออกซึ่งการเข้าใจตนเองและผู้อื่น เคารพและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายระหว่างบุคคล โดยเฉพาะในด้านสังคมและวัฒนธรรม ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงภาวะผู้นำได้อย่างเหมาะสม
๓) ความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม: แสดงความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา เชื้อชาติ ศาสนา และความหลากหลายในสังคมไทยและชาติอื่น ๆ รวมทั้งความสัมพันธ์ที่มีต่อกันได้ ประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านศิลปศาสตร์เพื่ออธิบายและวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาของตนเองและสังคมได้อย่างเป็นระบบ
๔) การคิดเชิงวิเคราะห์และแก้ปัญหา: ระบุปัญหา รวบรวมข้อมูล ค้นหาข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจและประเมินข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และใช้เหตุผลเพื่อหาคำตอบหรือแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่กำหนดได้
๕) การเรียนรู้ตลอดชีวิต: ใฝ่รู้ มีทักษะในการเรียนรู้และความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาข้ามศาสตร์ ระบุความต้องการและกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาตนเองได้
๖) คุณธรรมและจริยธรรม: แสดงออกซึ่งพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรมที่สมาชิกที่มีคุณค่าของสังคมพึงมี อาทิ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ตรงเวลา เคารพกฎ กติกา และระเบียบของสังคม แสดงออกซึ่งจรรยาบรรณวิชาการและวิชาชีพ
๗) ความรู้เท่าทันสถานการณ์โลก: รู้เท่าทันสถานการณ์โลกและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้
ความสามารถเฉพาะ (Subject-specific Competences)
๑) ความรู้ทางภาษาไทย: มีความรู้ด้านหลักภาษาไทย ภาษาศาสตร์ภาษาไทย ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วรรณกรรมไทย คติชนวิทยา สามารถค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ และอภิปรายประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง ทำวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อประกอบอาชีพและการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปได้
๒) การสื่อสารภาษาไทยขั้นสูง: สามารถใช้ภาษาและวิธีสื่อสารโดยใช้สื่อต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับบริบทของวิชาชีพ และสะท้อนความเข้าใจในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี วิเคราะห์ วิพากษ์ปัญหาด้านการสื่อสารภาษาไทยและแก้ไขได้อย่างเหมาะสม
๓) ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางภาษา วรรณกรรม และคติชนวิทยา: บูรณาการความรู้ทางภาษาไทย วรรณกรรม คติชนวิทยา และศาสตร์อื่น ๆ เพื่อผลิตงานสร้างสรรค์และงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และสังคมได้
๔) คุณธรรมและจริยธรรม: ใช้ภาษาและสื่อสารอย่างมีคุณธรรมโดยคำนึงถึงจรรยาบรรณทางวิชาชีพและความรับผิดชอบต่อสังคม
ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (Program–level Learning Outcomes: PLOs)
เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนในหลักสูตร ผู้สำเร็จการศึกษาจะสามารถ
PLO ๑ วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ภาษาไทย วรรณกรรมไทยและคติชนวิทยาได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
PLO ๒ ใช้ทักษะภาษาไทยและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารในกลุ่มอาชีพได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
PLO ๓ สร้างสรรค์ผลงานจากการบูรณาการความรู้ทางด้านภาษาไทย วรรณกรรมไทย และคติชนวิทยาได้ถูกต้องตามหลักแนวคิดทฤษฎี
PLO ๔ แสดงออกซึ่งความใฝ่รู้ การพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
PLO ๕ ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพและแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำและผู้ตามในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
PLO ๖ มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณทางวิชาการ
ผลลัพธ์การเรียนรู้ของกลุ่มวิชาโท
๑. กลุ่มวิชาโทภาษากับการสื่อสารศึกษา: ประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีด้านการสื่อสารเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาและอธิบายปรากฎการณ์การสื่อสารในสังคมได้
๒. กลุ่มวิชาโทการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ: ประยุกต์ใช้ความรู้ทางภาษา วัฒนธรรมไทย และหลักการสอนเพื่อการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศได้
๓. กลุ่มวิชาโทภาษาอังกฤษ: สื่อสารภาษาอังกฤษในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ถูกต้องตามหลักภาษาและตรงตามบริบท
๔. กลุ่มวิชาโทภาษาญี่ปุ่น: สื่อสารภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน การศึกษา การทำงานได้อย่างถูกต้องตามหลักภาษาและวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น
๕. กลุ่มวิชาโทภาษาจีน: สื่อสารภาษาจีนในสถานการณ์ใกล้ตัวได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์จีนและตรงตามวัตถุประสงค์
๖. กลุ่มวิชาโทประวัติศาสตร์: เชื่อมโยงสาระสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้อย่างถูกต้องตามหลักประวัติศาสตร์
๗. กลุ่มวิชาโทจิตวิทยา: ประยุกต์ใช้หลักการและทฤษฎีทางจิตวิทยาในชีวิตประจำวันได้ตรงตามวัตถุประสงค์และบริบท
๘. กลุ่มวิชาโทปรัชญา : ประยุกต์ใช้แนวคิดทางปรัชญาในบริบทสังคมปัจจุบันได้ตรงตามวัตถุประสงค์
ข้อมูล ณ วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๖
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
- รวมค่าธรรมเนียมแรกเข้า สำหรับนักศึกษาใหม่
- รวมค่าธรรมเนียมประจำภาคการศึกษา
- รวมค่าธรรมเนียมเฉพาะหลักสูตร
ทุนการศึกษา
- ทุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล
- ทุนฉุกเฉินมหาวิทยาลัยมหิดล
- เงินยืมสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลน
- ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา
- ทุนคณะศิลปศาสตร์
- ทุนพัฒนาบัณฑิตที่พึงประสงค์ คณะศิลปศาสตร์
ผลงานรางวัลนักศึกษา สาขาวิชาภาษาไทย
- 09/02/2024
- admin
คณะศิลปศาสตร์ ขอแสดงความยินดีแก่ นางสาวจริญญา พวงประโคน นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย ชั้นปีที่ 4 ในโอกาสได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากการแข่งขันกีฬายูยิตสู ประเภททุ่ม (Tachi Waza) บุคคลหญิง รุ่นไม่เกิน 57 กก. (น้ำหนักเกิน 52 กก. แต่ไม่เกิน 57 กก.) จากการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49 นนทรีเกมส์
เสียงจากศิษย์เก่า สาขาวิชาภาษาไทย
บริการการเรียนการสอน
สวัสดิการนักศึกษา
ทุนการศึกษา
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
คู่มือนักศึกษา
ดาวน์โหลดแบบฟอร์มต่าง ๆ
การฝึกงาน
MU Life Pass
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
- งานการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้
- คุณสมฤทัย
- โทรศัพท์: 02-441-4401-8 ต่อ 1739, 1102