คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต

สาขาวิชาภาษาไทย
ชื่อหลักสูตร

(ภาษาไทย) หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย
(ภาษาอังกฤษ) Bachelor of Arts Program in Thai

ชื่อปริญญา

(ภาษาไทย) ศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาไทย)
(ภาษาอังกฤษ) Bachelor of Arts (Thai)

ประเภทของหลักสูตร

หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาการ

จำนวนหน่วยกิต

รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า ๑๒๓ หน่วยกิต

ระยะเวลาการศึกษา / วงรอบหลักสูตร

เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี (๔ ปี) ตามประกาศของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา
เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๕

สถานภาพของหลักสูตรและกำหนดการเปิดสอน

เป็นหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๖ จากหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๑)

เริ่มใช้ในภาคการศึกษาที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๖ เป็นต้นไป

การให้ปริญญา

ให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว

สถาบันผู้ประสาทปริญญา (ความร่วมมือกับสถาบันอื่น)

มหาวิทยาลัยมหิดล

เป้าหมาย

หลักสูตรมีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถทางภาษาไทย และมีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำหนด สามารถปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี ใช้ความรู้และทักษะด้านการสื่อสารและทักษะทางวัฒนธรรมเชื่อมระหว่าง “คน” และ “ศาสตร์” เพื่อแก้ปัญหาให้ตนเองและสังคมและพัฒนาประเทศได้

วัตถุประสงค์

มีหลักสูตรมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติดังนี้

๑)  มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในวิชาแกนทางภาษาไทย ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด

๒)  มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพในกลุ่มงานด้านการสื่อสาร การสื่อสารมวลชน และการสร้างสรรค์เนื้อหา รวมถึงอาชีพอื่น ๆ ที่ใช้ความรู้ขั้นสูงทางด้านภาษาไทยได้เป็นอย่างดี

๓)  มีกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์โดยบูรณาการความรู้ทางด้านภาษาไทยเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้

๔)  มีศักยภาพการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ทั้งในฐานะผู้นำและสมาชิกของกลุ่มเคารพความแตกต่างหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม

๕)  มีทักษะการเรียนรู้และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารการวิจัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเหมาะสม

๖) มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณทางวิชาการ

ลักษณะเฉพาะของหลักสูตร

หลักสูตรฯ สาขาวิชาภาษาไทยมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น ดังนี้

๑) ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ทางภาษาไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งในทักษะภาษาไทย ภาษาไทยในงานสื่อสารมวลชน ภาษาศาสตร์ วรรณคดีและวรรณกรรมไทย คติชนวิทยา และการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ  โดยมีรายวิชาบังคับที่ครบถ้วนตามกลุ่มทักษะเหล่านี้

๒) มีกลุ่มรายวิชาเลือกที่แบ่งเป็นกลุ่มทักษะเฉพาะที่ให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ตามความถนัดและสนใจซึ่งสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ หรือศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาได้ ได้แก่ ทักษะภาษาไทย ภาษาไทยในงานสื่อสารมวลชน ภาษาศาสตร์ วรรณคดีและวรรณกรรมไทย คติชนวิทยา และการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ 

๓) กลุ่มวิชาเลือกและวิชาโทของหลักสูตรฯ  มีการเชื่อมโยงความรู้ทางภาษาไทยกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ ในลักษณะสหวิทยาการ

๔) มีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มุ่งผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยคำนึงถึงคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ทักษะดิจิทัล ทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมถึงทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

๕) มีผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญครบถ้วนในทักษะเฉพาะทั้งกลุ่มวิชาบังคับ วิชาเลือก และวิชาโท

ระบบการศึกษา

จัดการศึกษาแบบชั้นเรียนในระบบหน่วยกิตทวิภาค

อาชีพสามารถประกอบได้

บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสาขาภาษาไทยสามารถประกอบอาชีพได้ ดังต่อไปนี้

๑) กลุ่มนักวิชาการและการสอน อาทิ นักวิจัย นักวิเคราะห์ข้อมูลภาษาไทย นักวิชาการ บุคลากรทางด้านการศึกษา ผู้สอนภาษาไทยให้ชาวต่างประเทศ

๒) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในองค์กร อาทิ นักประชาสัมพันธ์ เลขานุการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล

๓) กลุ่มสื่อสารมวลชนและนักสร้างสรรค์เนื้อหา อาทิ  นักพูด ผู้ประกาศ นักข่าว นักเขียน นักพิสูจน์อักษร นักสร้างสรรค์

การศึกษาต่อ

ระดับบัณฑิตศึกษาสาขาต่าง ๆ อาทิ สาขาภาษาไทย วรรณคดีไทย ภาษาศาสตร์ คติชนวิทยา วรรณคดีเปรียบเทียบ นิเทศศาสตร์ ครุศาสตร์ เป็นต้น

ปรัชญาการศึกษา

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย จัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองจากความรู้เดิมและประสบการณ์การเรียนรู้ (Constructivism) โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน (Outcome-Based Education) เพื่อพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา และคำนึงถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learning-Centered approach) เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถสื่อสารและแสดงออกทางภาษาได้ดี มีความรู้ความสามารถและทักษะในการบูรณาการความรู้ทางด้านภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยกับศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีวิจารณญาณ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดจนมีคุณธรรมและจริยธรรม

กลยุทธ์/แนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอน

๑)  หลักสูตรฯ มีแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์ของผู้เรียนตามผลลัพธ์การเรียนรู้

๒)  ออกแบบการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาระดับพื้นฐานไปสู่ความรู้ระดับสูง เพื่อให้ผู้เรียนเชื่อมโยงและต่อยอดความรู้จากประสบการณ์เดิมไปสู่ประสบการณ์ใหม่

๓)  จัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติในรูปแบบที่หลากหลายตามหลักการตามหลักการเรียนการสอนแบบ Active Learning เช่น  การบรรยายเชิงปฏิสัมพันธ์ (Interactive lectures) การอภิปรายสัมมนา (Discussion / Seminar) การสาธิต (Demonstration) การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project based learning) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem based learning) และการเรียนรู้โดยใช้กรณีศึกษา (Cased – based learning) เป็นต้น

กลยุทธ์ / แนวปฏิบัติ ในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา

๑) การวัดและประเมินผลผู้เรียนต้องสอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้

๒) มีเกณฑ์การวัดและประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ โดยประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาตามสภาพจริง (Authentic assessment) การประเมินการเรียนรู้ (Formative evaluation) การประเมินผลรวม (Summative evaluation)

๓) เกณฑ์การให้คะแนน (Scoring Rubric)โดยใช้เครื่องมือการวัดและประเมินผลที่มีความเที่ยงตรง (Validity) และความคงที่ (Reliability)

ความสามารถทั่วไป (Generic Competences)

๑) การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ: ใช้ภาษาเพื่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน แสวงหาความรู้ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้และความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันและการปฏิบัติงานได้

๒) การทำงานร่วมกับผู้อื่น: แสดงออกซึ่งการเข้าใจตนเองและผู้อื่น เคารพและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายระหว่างบุคคล โดยเฉพาะในด้านสังคมและวัฒนธรรม ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงภาวะผู้นำได้อย่างเหมาะสม

๓) ความตระหนักรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม: แสดงความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา เชื้อชาติ ศาสนา และความหลากหลายในสังคมไทยและชาติอื่น ๆ รวมทั้งความสัมพันธ์ที่มีต่อกันได้ ประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านศิลปศาสตร์เพื่ออธิบายและวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาของตนเองและสังคมได้อย่างเป็นระบบ

๔) การคิดเชิงวิเคราะห์และแก้ปัญหา: ระบุปัญหา รวบรวมข้อมูล ค้นหาข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจและประเมินข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และใช้เหตุผลเพื่อหาคำตอบหรือแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่กำหนดได้

๕) การเรียนรู้ตลอดชีวิต: ใฝ่รู้ มีทักษะในการเรียนรู้และความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาข้ามศาสตร์ ระบุความต้องการและกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาตนเองได้

๖) คุณธรรมและจริยธรรม: แสดงออกซึ่งพฤติกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรมที่สมาชิกที่มีคุณค่าของสังคมพึงมี อาทิ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ตรงเวลา เคารพกฎ กติกา และระเบียบของสังคม แสดงออกซึ่งจรรยาบรรณวิชาการและวิชาชีพ

๗) ความรู้เท่าทันสถานการณ์โลก:  รู้เท่าทันสถานการณ์โลกและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้

ความสามารถเฉพาะ (Subject-specific Competences)

๑)  ความรู้ทางภาษาไทย: มีความรู้ด้านหลักภาษาไทย ภาษาศาสตร์ภาษาไทย ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วรรณกรรมไทย คติชนวิทยา สามารถค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ และอภิปรายประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง ทำวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อประกอบอาชีพและการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปได้

๒) การสื่อสารภาษาไทยขั้นสูง: สามารถใช้ภาษาและวิธีสื่อสารโดยใช้สื่อต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับบริบทของวิชาชีพ และสะท้อนความเข้าใจในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี วิเคราะห์ วิพากษ์ปัญหาด้านการสื่อสารภาษาไทยและแก้ไขได้อย่างเหมาะสม

๓) ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางภาษา วรรณกรรม และคติชนวิทยา: บูรณาการความรู้ทางภาษาไทย วรรณกรรม คติชนวิทยา และศาสตร์อื่น ๆ เพื่อผลิตงานสร้างสรรค์และงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และสังคมได้

๔) คุณธรรมและจริยธรรม: ใช้ภาษาและสื่อสารอย่างมีคุณธรรมโดยคำนึงถึงจรรยาบรรณทางวิชาชีพและความรับผิดชอบต่อสังคม

ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (Program–level Learning Outcomes: PLOs)

เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนในหลักสูตร ผู้สำเร็จการศึกษาจะสามารถ

PLO วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ภาษาไทย วรรณกรรมไทยและคติชนวิทยาได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

PLO ใช้ทักษะภาษาไทยและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารในกลุ่มอาชีพได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

PLO สร้างสรรค์ผลงานจากการบูรณาการความรู้ทางด้านภาษาไทย วรรณกรรมไทย และคติชนวิทยาได้ถูกต้องตามหลักแนวคิดทฤษฎี

PLO แสดงออกซึ่งความใฝ่รู้ การพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

PLO ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพและแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำและผู้ตามในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้

PLO ๖ มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณทางวิชาการ

ผลลัพธ์การเรียนรู้ของกลุ่มวิชาโท    

๑. กลุ่มวิชาโทภาษากับการสื่อสารศึกษา: ประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีด้านการสื่อสารเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาและอธิบายปรากฎการณ์การสื่อสารในสังคมได้

๒. กลุ่มวิชาโทการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ: ประยุกต์ใช้ความรู้ทางภาษา วัฒนธรรมไทย และหลักการสอนเพื่อการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศได้

๓. กลุ่มวิชาโทภาษาอังกฤษ: สื่อสารภาษาอังกฤษในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ถูกต้องตามหลักภาษาและตรงตามบริบท

๔. กลุ่มวิชาโทภาษาญี่ปุ่น: สื่อสารภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน การศึกษา การทำงานได้อย่างถูกต้องตามหลักภาษาและวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น

๕. กลุ่มวิชาโทภาษาจีน: สื่อสารภาษาจีนในสถานการณ์ใกล้ตัวได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์จีนและตรงตามวัตถุประสงค์

๖. กลุ่มวิชาโทประวัติศาสตร์: เชื่อมโยงสาระสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้อย่างถูกต้องตามหลักประวัติศาสตร์

๗. กลุ่มวิชาโทจิตวิทยา: ประยุกต์ใช้หลักการและทฤษฎีทางจิตวิทยาในชีวิตประจำวันได้ตรงตามวัตถุประสงค์และบริบท

๘. กลุ่มวิชาโทปรัชญา : ประยุกต์ใช้แนวคิดทางปรัชญาในบริบทสังคมปัจจุบันได้ตรงตามวัตถุประสงค์

ข้อมูล ณ วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๖

Play Video
คณะศิลปศาสตร์

ค่าธรรมเนียมการศึกษา​

ค่าธรรมเนียมการศึกษา

฿17,000/ภาคการศึกษา
  • รวมค่าธรรมเนียมแรกเข้า สำหรับนักศึกษาใหม่
  • รวมค่าธรรมเนียมประจำภาคการศึกษา
  • รวมค่าธรรมเนียมเฉพาะหลักสูตร

ทุนการศึกษา

฿XXXXX/ภาคการศึกษา
  • ทุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล
  • ทุนฉุกเฉินมหาวิทยาลัยมหิดล
  • เงินยืมสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลน
  • ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา
  • ทุนคณะศิลปศาสตร์
  • ทุนพัฒนาบัณฑิตที่พึงประสงค์ คณะศิลปศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์

ผลงานรางวัลนักศึกษา สาขาวิชาภาษาไทย

คณะศิลปศาสตร์

เสียงจากศิษย์เก่า สาขาวิชาภาษาไทย

วาเรศ รัตนวิสาลนนท์
วาเรศ รัตนวิสาลนนท์ (รุ่น 2) ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ บริษัท เบญจกายา จำกัด
Read More
“สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่เพียงแต่จะสอนรากฐานและพื้นฐานของภาษา แต่ยังสอนให้รู้จักการใช้ภาษาอย่างมีศาสตร์และศิลป์ มีวิชาเรียนที่ให้เลือกมากมายตามความสนใจ เนื้อหามีความทันสมัย สามารถนำความรู้ไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในบริบทต่าง ๆ ได้ ตลอดจนคณาจารย์และบุคลากรที่มีความใส่ใจในนักศึกษา จึงทำให้คณะนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นที่เพาะบ่มความรู้ แต่ยังเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของพวกเราอีกด้วย”
สัมฤทธิ์  จิวระประภัทร์
สัมฤทธิ์ จิวระประภัทร์ข้าราชการครู
Read More
“ได้เรียนรู้แนวคิด ทัศนคติ รวมทั้งวิธีการในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ผ่านแบบฝึกหัด กิจกรรม และโครงการต่างๆ ที่คณาจารย์มอบให้ ซึ่งในฐานะคุณครูก็ได้นำเอาสิ่งดี ๆ ที่ได้รับมาถ่ายทอดให้กับนักเรียน ให้กับลูกศิษย์ให้สามารถค้นพบตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข”
ดร. มุทิตา มากวิจิตร์
ดร. มุทิตา มากวิจิตร์ (รุ่น 1) อาจารย์ นักวิชาการอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ที่ปรึกษาด้านงานวิจัย บริษัท JuAm Herb and Health Co.,Ltd
Read More
“ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาภาษาไทย ได้นำองค์ความรู้มาต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งในเรื่องการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพทางด้านวิชาการได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำทักษะความรู้ด้านการใช้ภาษาไทยมาใช้ในการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งทักษะการเขียน ทักษะการพูด และทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถสื่อสารและถ่ายทอดองค์ความรู้ของตนเองสู่สาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความภาคภูมิใจของตนเองที่ทุกครั้งเวลามีโอกาสไปบรรยายให้นักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยฟัง จะกล่าวเสมอว่า “ตนเองจบการศึกษาจากสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ความรู้เกี่ยวกับการเขียนบทความวิชาการที่จะมาบรรยายในวันนี้ ได้มาจากสถาบันแห่งนี้ทั้งหมด”
ผศ.ดร.กมลพัทธ์  ใจเยือกเย็น
ผศ.ดร.กมลพัทธ์ ใจเยือกเย็น (รุ่น 2) อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
Read More
“รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เรียนจบจากสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ได้รับทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์จากอาจารย์ทุกท่าน อาจารย์ในสาขาดูแลอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ โดยให้การดูแล ทางด้านการเรียนและการดำรงชีวิต อบรม สั่งสอนให้นักศึกษาทุกคนเสมือนลูกของตนเอง ความรู้ที่ได้รับตลอดระยะเวลา 4 ปี เป็นองค์ความรู้พื้นฐานต่อยอดสำหรับการเรียนต่อและทำงานได้เป็นอย่างดี รุ่นพี่และรุ่นน้องรักใคร่กลมเกลียว มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน ทำให้รู้สึกอบอุ่นเปรียบเสมือนทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน จึงทำให้การเรียนตลอดระยะเวลา 4 ปี ในสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เต็มไปด้วยความสุขค่ะ”
สุพัชชา ตรงต่อกิจ
สุพัชชา ตรงต่อกิจ(รุ่น 2) ข้าราชการครู
Read More
“การเรียนรู้ทั้งทางศาสตร์และศิลป์ของเนื้อหาวิชา ตลอดจนเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ จากกิจกรรมนอกห้องเรียน ได้หลอมรวมจนเป็นศักยภาพที่แฝงไว้ในตัวเรา จนวันที่ได้เป็นครู จึงค้นพบว่าตัวเราถูกบ่มเพาะมาอย่างดี ได้แสดงศักยภาพที่มีและส่งต่อได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเป็นงานอะไร เราแทบจะได้ทดลองทำมาหมดแล้วในชั้นเรียน”
จิตติขวัญ ภู่พันธ์ตระกูล
จิตติขวัญ ภู่พันธ์ตระกูล(รุ่น 3) อาจารย์ประจำหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
Read More
“รู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่ได้เรียนที่สาชาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นี่มีทั้งอาจารย์และเพื่อนที่ดี มีรุ่นพี่และรุ่นน้องที่น่ารัก รู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้งที่ได้กลับไปที่คณะค่ะ ตอนที่เรียนเราได้องค์ความรู้ภาษาไทยอย่างครบถ้วน อาจารย์ส่งเสริมให้เราได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติจริง ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ทุกวันนี้ก็สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนตลอด 4 ปีไปใช้ในการทำงานได้โดยตรง ทั้งการสอนนักศึกษาและการทำงานวิชาการต่าง ๆ ด้วยค่ะ”
ณัฏฐ์สิชา บริสุทธิ์รดากุล
ณัฏฐ์สิชา บริสุทธิ์รดากุล (รุ่น 3) Assistant Manager Social Media Content : Digital Marketing บริษัท Workpoint Entertainment
Read More
“ตั้งแต่เรียนจบมาจนถึงการทำงานในปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 10 ปีได้แล้ว ตลอด 10 ปีในแวดวงการทำงาน ได้ใช้ทักษะจากการเรียนรู้ในหลักสูตรวิชาต่าง ๆ ของคณะ แทบจะครบทุกศาสตร์ ที่แน่ ๆ เราได้ภาษีพื้นฐานการพูด ฟัง อ่าน เขียน ที่รู้สึกได้ว่ามีมากกว่าคนอื่น ๆ ในสังคมทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นคือ การคิด วิเคราะห์ต่าง ๆ ที่เราสามารถคิดได้แบบมีระบบ และกลั่นกรองออกมา สื่อสารออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสมฐานะความเป็นศิลปศาสตร์ งานที่ทำอยู่ตอนนี้เป็นสาย Content Creator เราจะต้องคิดคอนเทนต์ต่าง ๆ เพื่อโปรโมตงานของแบรนด์ที่เรารับผิดชอบอยู่ของลูกค้า ทั้งหมดนี้ต้องคิดคอนเซ็ปต์ ต้องคิดเนื้องาน รวมถึงการสื่อสารออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น วิดีโอ ภาพ แม้กระทั่งแคปชั่น ทั้งหมดนี้ต้องใช้ทักษะภาษาเพื่อการสื่อสารแทบทั้งหมดเลย เลยรู้สึกได้เลยว่า ที่เรียนมาได้ใช้แบบจริงจังค่ะ”
กมลกานต์ ธนบุญสถิต
กมลกานต์ ธนบุญสถิต(รุ่น 4) Digital Content Editor เว็บไซต์ Dek-D.com
Read More
“สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่เข้ามาเรียนแล้วก็ออกไป แต่ทำให้เราใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดี มีอาจารย์ที่ดี เพื่อนที่ดี และทำให้มี connection ที่ดีจนถึงทุกวันนี้ ถึงจะเป็นเวลาแค่ 4 ปี แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตค่ะ การเรียนที่นี่ ทำให้เราเข้าใจหลักภาษาและการใช้ภาษา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสื่อสาร สามารถนำไปประยุุกต์ใช้กับงานอะไรก็ได้ โดยเฉพาะงานด้านสื่อสารมวลชน เราจะได้เปรียบคนอื่นมาก ๆ ค่ะ”
ยุทธชัย สว่างสมุทรชัย
ยุทธชัย สว่างสมุทรชัยContent Producer สถานี Salmon Podcast
Read More
“สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีเสาหลักที่เป็นแขนงวิชาทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ภาษาศาสตร์ วรรณกรรม สื่อสารมวลชน และคติชนวิทยา ซึ่งความหลากหลายของความรู้และการปฏิบัติที่คณะได้มอบให้ กลายเป็นทักษะ ‘การปรับตัว’ ชั้นดีต่อโลกแห่งการทำงานจริง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสื่อมวลชน เอเจนซี่ แบรนด์ หรือคอนเทนต์ออนไลน์ ต่างต้องการคนที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เปิดกว้างทางความคิด รวมถึงเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา คลังความรู้ที่สั่งสมมาตลอด 4 ปี กลายเป็นขุมพลังที่ช่วยให้ ‘ปรับตัว’ ได้เข้ากับทุกสถานการณ์ พร้อมเผชิญและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งสนุกและมีความสุขทุกครั้งที่ได้ใช้ความรู้เหล่านั้นในการจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
จันทิมา สว่างลาภ (รุ่น 4)
จันทิมา สว่างลาภ (รุ่น 4)ข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งนักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ
Read More
“การได้เรียนที่คณะศิลปศาสตร์ เอกวิชาภาษาไทย ทำให้ได้เรียนวิชาที่ตัวเองชอบ ได้แสดงความสามารถในสิ่งที่ตัวเองเป็น ได้เป็นตัวแทนประกวดพูดสุนทรพจน์ ซึ่งคณาจารย์ให้การสนับสนุนจนได้รับรางวัลระดับประเทศ เมื่อจบการศึกษามาก็ได้ใช้ความรู้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย และได้สอบเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานมา 5 ปี ตลอดระยะเวลาที่เป็นอาจารย์ก็ใช้ความรู้ที่เรียนมาสอนนักศึกษาได้อย่างลึกซึ้ง จนได้เปลี่ยนงานมาเป็นข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งนักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ก็สามารถใช้ความรู้ทำงานด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อทางคติชนวิทยา ในการทำงานจนประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ น้อง ๆ ที่มีใจรักภาษาไทย และอยากรับราชการ ได้อย่างมั่นคง เรียนเอกไทยรับรองมีงานทำแน่นอน”
โอมาร์ หวันมุดา
โอมาร์ หวันมุดา(รุ่น 4) Acting Assistant Store Manager บริษัท Sephora Thailand จำกัด
Read More
“เมื่อนึกถึงสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ เราจะ “คิดถึง” บรรยากาศสมัยเรียน คิดถึงรุ่นพี่รุ่นน้องและเพื่อนร่วมรุ่นที่มอบความอบอุ่นให้กันเสมอ เป็นมุมสันทนาการที่ได้จากการเข้ามาเรียนที่สาขานี้ และยังรวมถึงอาจารย์ที่เก่ง ๆ หลายท่าน ทุกคนล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่อบอุ่น และน่ารักจนทุกวันนี้ค่ะ สิ่งที่ได้จากการที่เคยได้ก้าวเข้ามาเป็นสาวเอกไทย คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดลนั้น คือ “ทักษะในการสื่อสาร” เพราะทุกวันนี้ ทำงานด้านการขาย ต้องพบปะพูดคุยกับลูกค้า ซึ่งสมัยเรียน ก็ได้เลือกลงวิชาการพูดอยู่บ่อยครั้ง เราได้เอามาปรับใช้จากการที่ได้ลงเรียน เพราะเราจะเห็นวิธีการพูดของคนอื่น ทั้งท่าทาง ความมั่นใจ ซึ่งมีเพื่อน ๆ และอาจารย์ที่เก่ง ๆ เยอะเลย จนสามารถเอาด้านดีของคนเก่ง ๆ มาปรับให้เหมาะกับความเป็นตัวเรา ทั้งยังได้รับคำแนะนำเรื่องการปรับรูปแบบการพูดและวิธีการสื่อสารจากอาจารย์ด้วย จนทำให้เรากล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น ใช้ได้กับงานที่เราทำอยู่ทุกวันนี้จริง ๆ และทำให้เราเติบโตในหน้าที่การงานที่ทำอยู่ด้วยค่ะ”
นริศรา หาสนาม
นริศรา หาสนาม (รุ่น 5) อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Read More
“สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปรียบเสมือนจิตรกรสมัยใหม่ที่คอยแต่งแต้มสีสันมุมมองด้านภาษาที่หลากหลาย ตามความถนัด เมื่อจิตรกรเห็นว่างานที่เรากำลังออกแบบเหมาะกับสีใด จิตรกรก็จะลงสีให้เหมาะแก่งานนั้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะการใช้ภาษา ภาษาศาสตร์ คติชนวิทยา วรรณกรรมและวรรณคดี หรือหลากสีก็ตาม นอกจากนี้จิตรกรยังเพียรขัดเกลาเก็บสีลงเงาให้คมชัดทุกมิติ ทั้งนี้เพื่อให้เราเข้าใจคน รู้จักการใช้ชีวิตที่สมดุล อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้ได้พบมิตรภาพอันงดงาม แม้ว่างานจะได้เสร็จสิ้นไปนานเพียงใดแล้วก็ตาม สีที่เคยแต่งแต้มไว้ยังคงอยู่กับเราและใช้พัฒนาต่อยอดในการทำงานและการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี”
ธนภัทร พิริย์โยธินกุล
ธนภัทร พิริย์โยธินกุล(รุ่น 5) กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ภาควิชาภาษาไทย (วรรณคดี) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Read More
“รู้จัดการบ้านเมืองเครื่องประดับ รู้ตำรับดีร้ายทำนายฝัน รู้สังเกตเท็จจริงทุกสิ่งอัน รู้แก้กันผีสางขับรางควาน หนึ่งรู้เรียนเขียนหนังสือลายมือเอก ลูกคิดเลขนับประมูลคิดคูณหาร รู้วิสัยไตรภูมิพงศาวดาร รู้จักว่านยาสิ้นระบิลไม้ หนึ่งผู้รู้อักษรกาพย์กลอนกล่าว เรียบเรียงราวเรื่องความตามวิสัย รู้กฎหมายฝ่ายขุนนางฝ่ายข้างใน รู้พิชัยสงครามตามกระทรวง” ในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่นำเสนอรายชื่อความรู้ห้าสิบประการผ่านคำพูดตัวละครกษัตริย์ผู้ต้องการชุบเลี้ยง “ผู้รู้วิชาสารพัน” หากกล่าวว่าสำนักเรียนโมกขาวนวล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลแห่งนี้ ได้ต่อเติมเสริมสร้างสรรพวิชาเพื่อกอปรก่อ “ผู้รู้วิชาสารพัน” นั้นก็ไม่ใช่คำที่เกินจริง ข้าพเจ้าได้รับการอบรมสั่งสอนจากอาจารย์ว่า “รู้อะไรต้องรู้เหมือนเป็ด” หมายถึง รู้รอบ หลายหลากพร้อมกับการรู้ลึก เพราะการเรียนเอกภาษาไทย ไม่ใช่แค่ “รู้อักษร” “กาพย์กลอน” “รู้ไตรภูมิ” “รู้แก้กันผี” ตามวิถีแห่งการศึกษาวรรณคดีและคติชนวิทยา แต่จะต้องรู้ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ วิทยาการ และการเมือง – คือรู้เท่าทันโลก ทั้งโลกอดีต และโลกปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจ “มนุษย์” อันเป็นเป้าหมายของการศึกษาในสาย “มนุษยศาสตร์” ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์โลกอนาคตบนพื้นฐานแห่งความเป็นไปได้จริง ครูบาอาจารย์ทุกท่านได้หล่อหลอมความ “รู้รอบ” และ “รู้ลึก” ซึ่งเป็นคุณูปการยิ่งต่อการศึกษาในระดับ ป.โท ป.เอก ที่ “ลึก”-“ซึ้ง” ยิ่งกว่า รวมทั้งการนำความรู้ และวิธีการแสวงหาความรู้มาสร้างสรรค์ผลงานวิชาการเพื่อประโยชน์แก่วงวิชาการและสังคม นับว่าคณะศิลปศาสตร์ได้วางรากฐานแห่งการพัฒนาคนให้เป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” สมดังปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล
อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล (รุ่น 8) เจ้าหน้าที่พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท.
Read More
“ศิลปศาสตร์สอนให้ “รู้กว้าง” ในทักษะการใช้ชีวิตศิลปะการใช้ภาษา รวมถึงศิลปะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น การคิด วิเคราะห์ และแยกแยะสิ่งที่ถูกที่ควร การมีความลุ่มลึกในสิ่ง ต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เราเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและอยากแบ่งปันมากยิ่งขึ้น เรียนเอกไทย เราได้ความรู้เรื่องภาษาไทย อีกทั้งความรู้รอบในเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะศิลปศาสตร์ให้ความสำคัญ จึงมีส่วนทำให้การทำงานกับชุมชนเป็นเรื่องง่าย เพราะสิ่งที่ได้จากการเรียนการสอน เหมือนเป็นไกด์ไลน์ล่วงหน้าก่อนลงพื้นที่ และยิ่งทำให้เรารู้สึกสนิทกับชุมชนได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเข้าใจความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรม”
เอกพรรณ เชาว์สิริโชติ
เอกพรรณ เชาว์สิริโชติ(รุ่น 5) Creative Supervisor บริษัท โซนิกซ์ยูธ 1999 จำกัด
Read More
“สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยที่ผมจบมา นอกจากจะให้องค์ความรู้ทางด้านภาษาเพื่อการสื่อสาร ภาษาศาสตร์ วรรณกรรม และคติชนวิทยา ที่ผมได้นำองค์ความรู้จากการเรียนไปประยุกต์ และใช้ประกอบอาชีพของผมแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาตัวเอง ว่าชอบและถนัดอะไร เนื่องจากมีหลากหลายแขนงวิชา ทั้งวิชาบังคับ และวิชาบังคับเลือก เช่น วิชาการพูดแบบสาระบันเทิง วิชาภาษาไทยในการประชาสัมพันธ์องค์กร วิชาการเขียนสร้างสรรค์ วิชาวัจนปฏิบัติศาสตร์ และวิชาวรรณคดีเอก ฯลฯ ต่างเป็นวิชาที่ฝึกให้เราเป็นคนชอบคิด และวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และเป็นคนที่มีศักยภาพในการสื่อสารด้วยครับ”
ศรวณีย์ พรมเสน
ศรวณีย์ พรมเสนพิธีกร / ผู้ดำเนินรายการด้านเศรษฐกิจและการลงทุน
Read More
“สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือแหล่งปูทางสำคัญที่ทำให้ได้ทำงานด้านพิธีกร ผู้ประกาศข่าวจวบจนวันนี้ คณาจารย์ หลักสูตร กิจกรรมที่ทำตลอดการเรียน 4 ปี ต่างเสริมซึ่งกันและกัน ตอนที่เรียนก็ได้มีโอกาสเรียนวิชาพิธีกร ประกวดพูดสุนทรพจน์และเป็นพิธีกรในกิจกรรมโครงการของสาขาวิชาและเป็นพิธีกรงานของคณะเป็นประจำ ทำให้เรามีประสบการณ์ตั้งแต่สมัยเรียน จนทำให้เรามั่นใจในการนำองค์ความรู้ไปต่อยอด สร้างประโยชน์กับสายงานที่เราถนัดให้ออกมาดียิ่งขึ้น ๆ”
อรพรรณ รับคำอินทร์
อรพรรณ รับคำอินทร์(รุ่น 6) เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร Thai PBS
Read More
“คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหิดล” เป็นพื้นที่ที่เรามีโอกาสได้เรียนรู้ วิชา ทักษะ ประสบการณ์ต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะทักษะด้าน “ภาษา” “การสื่อสาร” และ “สื่อสารมวลชน” ที่สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตและการทำงานได้ตลอด รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ช่วยทำให้ได้ค้นพบตัวเองจาก “คำแนะนำ” “คำสอน” “ประสบการณ์” ของอาจารย์และรุ่นพี่อีกด้วย มีกิจกรรมสนุก ๆ กับมิตรภาพดี ๆ จากเพื่อน-พี่-น้อง ศิลปศาสตร์ด้วยกัน ถือว่าตลอดระยะเวลา 4 ปี เป็นช่วงเวลาในรั้วคณะศิลปศาสตร์ ที่สนุก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “เราเป็นเรา” ในวันนี้ และได้ก้าวเข้าไปทำงานในสิ่งที่ชอบ ถนัด และเหมาะกับตัวเอง
อานนท์ นันตสุคนธ์
อานนท์ นันตสุคนธ์(รุ่น 7) ข้าราชการตำแหน่ง นักสื่อสารมวลชนปฏิบัติการ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์
Read More
“สาขาวิชาภาษาไทยของที่นี่ มีเนื้อหาให้ได้เลือกเรียนหลากหลาย อย่างวิชาเกี่ยวกับการพูด ก็นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานในด้านการจัดรายการ การเป็นพิธีกร วิชาเกี่ยวกับการเขียนในสื่ออินเทอร์เน็ต ก็นำมาใช้กับการทำงานเขียนคอนเทนต์ในออนไลน์ได้ด้วย ตรงกับงานที่รับผิดชอบอยู่ รวมถึงวิชาเกี่ยวกับวรรณคดี-ก็นำมาประยุกต์กับงานได้ เพราะทำให้เรามีมุมมองต่าง ๆ ที่กว้างขึ้น มีคลังคำมากขึ้น เลือกใช้คำเวลาพูดในบริบทต่าง ๆ มากขึ้นด้วย สมัยเรียนที่คณะเรารู้จักกันเกือบหมด ทั้งนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร เลยชอบความอบอุ่นตรงนี้ ปัจจุบันก็ยังติดต่อทั้ง พี่ เพื่อน น้อง ที่รู้จักกันอยู่เสมอ ๆ เป็นรสชาติชีวิตในช่วงวัยหนึ่ง”
กสิกา เทพพิทักษ์
กสิกา เทพพิทักษ์(รุ่น 9) Retail & Training Project Executive L’Oreal (Thailand) Ltd Beauty Blogger ช่อง KOKOwow
Read More
“ดีใจที่เลือกเข้ามาเรียนที่สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ และภูมิใจทุกครั้งที่จะบอกคนอื่นว่าเรียนจบจากที่ไหนมา ช่วงเวลาตลอด 4 ปี มีวิชาที่น่าสนใจมากมาย ที่นี่เปิดโอกาสให้เราได้เลือกเรียนตามความสนใจ เช่น กลุ่มวิชาการพูด อาจารย์จะคอยให้คอมเมนต์เรา บอกข้อดีข้อด้อยต่าง ๆ อย่างละเอียดให้เราได้ไปพัฒนา ฝึกฝนตัวเอง เมื่อเรียนจบมาเราพูดได้เต็มปากเลยว่าทุกวิชาที่เราได้เลือกลงด้วยตัวเอง สามารถนำมาต่อยอด ฝึกฝน จนทำให้เรา มาทำงานถึงจุดนี้ได้ค่ะ”
Previous
Next

บริการการเรียนการสอน

สวัสดิการนักศึกษา

ทุนการศึกษา

ค่าธรรมเนียมการศึกษา

คู่มือนักศึกษา

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มต่าง ๆ

การฝึกงาน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

  • งานการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้
  • คุณสมฤทัย, คุณสงบสุข
  • โทรศัพท์: 02-441-4401-8 ต่อ 1739, 1102